ภาพยนตร์ชุดพยัคฆ์ร้าย 007 ภายใต้การผลิตของอีออนโปรดักชั่นส์ ที่นับรวม No Time to Die ด้วย มีจำนวนทั้งสิ้น 25 เรื่อง บทความจะพาคุณย้อนกลับไปม...
ภาพยนตร์ชุดพยัคฆ์ร้าย 007 ภายใต้การผลิตของอีออนโปรดักชั่นส์ ที่นับรวม No Time to Die ด้วย มีจำนวนทั้งสิ้น 25 เรื่อง
บทความจะพาคุณย้อนกลับไปมองวันวาน ของผลงานอีออนที่ใช้ดารานำเป็น โรเจอร์ มัวร์ & ธิโมธี ดาลตัน, ตามรายการดังต่อไปนี้
โรเจอร์ มัวร์
Live and Let Die (1973)
The Man with the Golden Gun (1974)
The Spy Who Loved Me (1977)
Moonraker (1979)
For Your Eyes Only (1981)
Octopussy (1983)
A View to a Kill (1985)
ธิโมธี ดาลตัน
The Living Daylights (1987)
Licence to Kill (1989)
Live and Let Die (1973)
หลังจากเคยคลาดกับบทบอนด์มาครั้งนึง ก็ถึงคราโรเจอร์ มัวร์ใส่สูท สวมวิญญาณจารชนมือพระกาฬไปปราบเหล่าร้าย
ทว่าในช่วงต้นยุค 70s โลกไม่เหมือนเมื่อก่อนหน้า... เพราะบรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี มองว่าบอนด์เป็นสัญลักษณ์ของการเหยียดผู้หญิง
สงครามเวียดนามซึ่งดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวอเมริกาเบื่อหน่ายกับการปฏิบัติการ ทั้งทางลับและที่เปิดเผย
ไหนจะมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแฮรี่ ซอลซ์แมน กับอัลเบิร์ต บร็อคโคลี่, ที่ความหมางเมินเพิ่มดีกรี จนถึงขั้นสนแค่ผลประโยชน์ด้านเงินทองแล้วอีก
เมื่อรวมกับกระแสตื่นตัวในการผลิตหนังคนผิวดำ, คราวนี้ 007 จึงออกจากลู่ทางปกติพอควร
โรเจอร์ มัวร์เริ่มต้นเป็นเจมส์ บอนด์ ด้วยภารกิจที่นำเขาไปสู่เหตุปะทะ กับเจ้าพ่อยาเสพติด (หนังเกี่ยวกับชาวผิวสีตอนนั้น นิยมใช้เนื้อเรื่องเกี่ยวกับขบวนการค้ายา)
พฤติกรรมต่อเพศแม่ของบอนด์ยังมีปัญหา แต่จัดว่าดีขึ้นสอดคล้องกับกาลเวลา
The Man With the Golden Gun (1974)
ผู้ชมยอมรับโรเจอร์ มัวร์ในฐานะ 007 คนใหม่ แต่ก็นำไปสู่ประเด็นถกเถียงในหมู่แฟน: ระหว่างโรเจอร์ มัวร์ กับฌอน คอนเนอรี่, คนไหนคือบอนด์ที่ดีกว่า ?
The Man With the Golden Gun พยายามมอบคำตอบให้ว่าเขาดีคนละแบบ เพราะบอนด์ภาคนี้แข็งกร้าวขึ้น, สุภาพน้อยลง และไม่ลังเลที่จะตะคอกใส่สาว
ซึ่งหลายคนมองว่า ส่วนผสมดังกล่าวไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่
ในภาพยนตร์, บอนด์ต้องตามหาเครื่องโซเล็กซ์ อะจิเทเทอร์ (Solex Agitator) อุปกรณ์ที่สามารถกักเก็บพลังแสงอาทิตย์ได้
และประจันหน้ากับฟรานซิสโก้ สการามังก้า หรือมือสังหารสมญา "เพชฌฆาตปืนทอง"
อุปกรณ์เก็บพลังแสงอาทิตย์ สะท้อนถึงวิกฤติด้านพลังงานของอังกฤษ ในค.ศ. 1973
ภาพยนตร์ใช้เค้าโครงจากงานช่วงท้ายๆ ของเอียน เฟลมมิง ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับวิกฤติด้านน้ำมัน
ภาคนี้หลายฉากถ่ายทำในประเทศไทย และทำให้เขาตะปู (จังหวัดพังงา) โด่งดัง
แต่หนังไม่ใคร่ทำเงินสักเท่าไร และแฮรี่ ซอลซ์แมน ก็ร่วมวงผลิตด้วยเป็นครั้งสุดท้าย
The Spy Who Loved Me (1977)
เว้นวรรคจากภาคก่อน 3 ปี, ในที่สุดภาพยนตร์ 007 ลำดับ 3 ของโรเจอร์ มัวร์ ก็กลายเป็นหนังบอนด์แบบที่ควรเป็นสักที
The Spy Who Loved Me เพียงหยิบยืมชื่อนิยายของเฟลมมิงมาใช้ (และไม่ใช่เล่มที่เฟลมมิง ภูมิใจนำเสนอนักด้วย)
ผู้สร้างภาพยนตร์มีอิสระมากขึ้น สาวบอนด์จึงเพิ่มจำนวน, ฉากบู๊ใหญ่โต ยาวนานกว่าเดิม
ตัวบอนด์เองก็ดูสนุกสนาน มีเสน่ห์ และนุ่มนวลกว่าที่เคย
บอนด์เผชิญกับผู้ต้องการทำลายโลก และสร้างอารยธรรมใหม่ขึ้นใต้ผืนน้ำมหาสมุทร
ตัวร้ายนามกระเดื่องคนนึงของแฟรนไชส์, จอว์ส/ชายร่างยักษ์ ผู้มีขากรรไกรฟันเหล็ก (รับบทโดยริชาร์ด คีล) ก็ปรากฏตัวครั้งแรกในภาคนี้
ผู้ชมชื่นชอบการเปลี่ยนแปลง ผลงานเลยโกยรายได้ที่สหรัฐฯ 46 ล้านดอลลาร์, ทั่วโลก 185.4 ล้าน
Moonraker (1979)
แม้ The Spy Who Loved Me ทำให้ค.ศ. 1977 เป็นปีที่ดีของบอนด์, 007 คืนฟอร์ม
ทว่านั่นไม่ใช่ค.ศ. ที่ดีสำหรับวงการภาพยนตร์ เพราะ Star Wars ภาคแรกสุด สร้างผลกระทบระดับปรากฏการณ์
จนผู้ชมเอาแต่ส่งเสียงสะท้อนสู่เหล่าผู้สร้างว่า ทำหนังอวกาศมาเยอะๆ หน่อย
ดังนั้นเจมส์ บอนด์ จึงต้องเข้าไปอยู่ท่ามกลางหมู่ดาวในค.ศ. 1979
เช่นเดียวกับภาคที่เพิ่งประสบความสำเร็จ, นอกจากชื่อแล้ว Moonraker แทบไม่มีอะไรเหมือนนิยายต้นฉบับ
ด้านผู้ร้ายกลับมาเป็นเศรษฐีบ้า ที่เป้าหมายคือทำลายล้างมนุษยชาติ และสร้างอารยธรรมใหม่ โดยเริ่มจากบนอวกาศ
การนำองค์ประกอบจากภาคซึ่งคนชอบมาทำซ้ำ (ขนาดจอว์ส/ขากรรไกรเหล็กยังมีบทอีกรอบ) ได้ผลตอบรับตามผู้ผลิตต้องการ
รายรับรวมทั่วโลกทะยานไปถึง 210 ล้านดอลลาร์
For Your Eyes Only (1981)
แม้ Moonraker ไปได้สวยทั้งในแง่คำวิจารณ์ และบนตารางหนังทำเงิน
แต่เหมือนเวลาคิดสิ่งใหม่ไม่ออก ผู้ผลิตจะยอมใช้องค์ประกอบเดิมซ้ำตลอด
แบบมิเกี่ยงว่าองค์ประกอบนั่นมาจาก ภาพยนตร์บอนด์ภาคที่ประสบความสำเร็จหรือเปล่า
ฉากแอ็กชั่นของ For Your Eyes Only กลับมามีความติดดิน, อุปกรณ์สายลับลดความเวอร์วังลง, บอนด์จีบสาวฝรั่งผมบลอนด์ (ตามเทรนด์เก่า) อีกหน
ภาพยนตร์อิงจากเรื่องสั้น 2 เรื่องของเฟลมมิง (For Your Eyes Only กับ Risico)
บอนด์ตามหาเครื่องคุมการยิงขีปนาวุธอัตโนมัติ (ATAC/Automatic Targeting Attack Communicator) ซึ่งกระทรวงกลาโหมใช้สื่อสาร และประสานงานกับเรือดำน้ำของกองทัพเรือ
รวมทั้งช่วยเหลือสาว ที่กำลังตามล้างแค้นคนร้ายฆ่าพ่อแม่ (แน่นอนว่าไอ้เจ้านั่น เกี่ยวข้องกะอุปกรณ์คุมขีปนาวุธด้วย)
For Your Eyes Only คือส่วนผสม ของบอนด์ผู้นุ่มนวลตามสไตล์โรเจอร์ มัวร์ กับเนื้อหาเชิงจารกรรมที่แข็งกร้าว
ในหนังมีฉากบอนด์เตะรถที่สมุนวายร้ายนั่งอยู่ ให้ร่วงลงจากการห้อยต่องแต่งบนหน้าผา
มัวร์เลยลังเลจะถ่ายทำในทีแรก เพราะกลัวผู้ชมยี้พฤติกรรมบอนด์ซ้ำรอย The Man With the Golden Gun... แต่ผู้สร้างเกลี้ยกล่อมจนเขายอมภายหลัง
Octopussy (1983)
บอนด์สะกดรอยนายพลชาวรัสเซีย ผู้ขโมยอัญมณีจากโซเวียต
และปรากฏว่าหมอนี่เกี่ยวข้องกับคามาล ข่าน/เจ้าชายอัฟกันผู้ล่ำซำ
ข่านคือผู้สมรู้ร่วมคิดด้านอาชญากรรมกับ 'อ็อกโตปุสซี่' หญิงที่เป็นผู้นำองค์กรอาชญากรรม
ซึ่งใช้เหล่าสตรีในคณะละครสัตว์ที่ตระเวนไปทั่วโลก ขโมยอัญมณี
ทว่า ผู้ร้ายตัวจริงงวดนี้คือนายพลรัสเซีย ผู้ซ้อนแผนอ็อกโตปุสซี่, ใช้คณะละครสัตว์ของหล่อน ขนระเบิดนิวเคลียร์เข้าฐานทัพอากาศอเมริกาในเยอรมนี (ซับซ้อนจริงวุ้ย)
โรเจอร์ มัวร์กะโบกมือลาบท 007 แล้ว และดาราอเมริกันเจมส์ โบรลิน ถูกกำหนดให้เป็นเจมส์ บอนด์คนใหม่ภาคนี้
แต่นั่นคือก่อนเควิน แม็กคลอรี่/ผู้ถือสิทธิ์เหนือบทภาพยนตร์ Thunderball ประกาศสร้างหนังเรื่องใหม่จากบทของตัวเอง โดย 'ฌอน คอนเนอรี่' เจ้าเก่าเล่นเป็นบอนด์
ผู้อำนวยการสร้างแบบอัลเบิร์ต บร็อคโคลี่กับไมเคิล จี. วิลสัน จึงเห็นว่านี่มิใช่คราวเหมาะสม ในการแนะนำบอนด์คนใหม่
และขอให้โรเจอร์ มัวร์รั้งตำแหน่ง 007 ใน Octopussy รวมทั้งปล่อยฉายชนกับ Never Say Never Again ของแม็กคลอรี่ ที่ปีเดียวกันซะ
A View to a Kill (1985)
เบื้องหลังของหนังชุดบอนด์ ช่างดูราวกับมีปัญหาตลอดศก
A View to a Kill ก็มีปัญหา 2 ประการ: โรเจอร์ มัวร์เริ่มสังขารโรยรา ทำให้เวลาประกบคู่สาวๆ แล้ว ชักคล้ายวัวแก่เคี้ยวหญ้าอ่อน, และฉากผาดโผนใช้สตั๊นท์แมนเกือบหมด จนขาดความสมจริง
มิหนำซ้ำ บอนด์ยังไม่ได้ครองตลาดหนังบู๊เกือบทั้งหมดผู้เดียว เหมือนดังแต่ก่อน (ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน กับอาโนลด์ ชวาเซเนกเกอร์ชักมาแรง, แถมด้วย Indiana Jones ของแฮริสัน ฟอร์ด)
สายลับ 007 ถูกส่งไปไซบีเรียเพื่อเก็บกู้ร่างของ 003 และเก็บกู้ไมโครชิปโซเวียต
ก่อนตามสืบเรื่องจนพบแผนทำลายซิลิคอนวัลเลย์ เพื่อครองสิทธิ์ขาดเหนือตลาดผลิตไมโครชิป ของจอมบงการ
ภาพยนตร์แค่ยืมชื่อเรื่องสั้น (From a View to a Kill) มาจากงานเอียน เฟลมมิง แต่แผนตัวร้ายคือฉบับรีไซเคิลของ Goldfinger
ภาคสุดท้ายของโรเจอร์ มัวร์ ทำได้ดีบนบ็อกซ์ออฟฟิศ... ทว่าแพ้ Rambo: First Blood Part II ของสตอลโลน ที่เปิดตัววันเดียวกัน
The Living Daylights (1987)
ราวกับการทำหนังบอนด์ไม่เคยมีสิ่งใดเป็นไปตามแผน, ทั้งที่ช่อง NBC ยกเลิกซีซั่นใหม่ของซีรีส์แนวนักสืบ+ตลก+ดราม่า เรื่อง Remington Steele แล้ว จน 'เพียร์ซ บรอสแนน' คิวว่าง
แต่เพราะอีออนโปรดักชั่นส์เล็งใช้บรอสแนนเป็น 007 คนใหม่นี่แหละ ที่ทำให้คนสนใจผลงานเขา และปลุกกระแสซีรีส์ขึ้นมาอีกหน
สถานีโทรทัศน์เลยกลับลำในช่วงเกือบนาทีสุดท้าย ขยายการผลิต Remington Steele อีก 2 ซีซั่น
บีบให้บรอสแนนเป็นเจมส์ บอนด์ทันทีไม่ได้
ธิโมธี ดาลตัน คือตัวสำรองที่ผู้อำนวยการสร้างของอีออน เลือกมาเสียบแทน
เขาแสดงเป็นคนเจ้าเล่ห์ แม้ในสถานการณ์โง่ๆ ได้อย่างน่าเชื่อถือ
แต่เมื่อถึงจุดที่บทตึงเครียดก็ปั้นสีหน้าเคร่งขรึม และไม่ทำกิริยาไร้สาระ
ในหนังบอนด์ภาคแรกของดาลตัน ซึ่งเนื้อหาบางส่วนอิงผลงานเฟลมมิง
007 รับภารกิจปลิดชีพจารชนหญิงที่ปลอมเป็นนักดนตรี ก่อนฝ่าฝืนคำสั่ง เพราะสังหรณ์ว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากล
และนี่ก็นำไปสู่การโรมรัน กับชาวโซเวียตผู้นับถือแนวคิดของ SMERSH (กร่อนมาจาก Smiert Shpionam ที่หมายถึง จงมอบความตายแด่สายลับ)
License to Kill (1989)
ภาคสุดท้ายของทิโมธี ดาลตัน และภาคแรกที่เรต PG-13 (เด็กดูได้แต่ผู้ใหญ่ควรแนะนำ)
ผู้สร้างพยายามพาบอนด์หวนคืนสู่รากเหง้าเดิม (นิยายเฟลมมิง) แม้เนื้อหา เปล่าเอามาจากนิยายเล่มไหนของเฟลมมิง
พ่อพยัคฆ์ร้าย เลยกลายเป็นเพชฌฆาตเลือดเย็น, จารชนผู้สังหารมนุษย์ได้โดยไร้ความลังเล
ใน License to Kill, เฟลิกซ์ ไลเทอร์/เพื่อนสายลับอเมริกันของบอนด์ กระตุกหนวดเสือของซานเชซ/เจ้าพ่อค้ายา ภรรยาเค้าจึงถูกฆ่า
องค์กร MI6 ห้ามบอนด์แก้แค้นส่วนตัว และขู่ว่าถ้าฝ่าฝืนจะริบใบอนุญาตฆ่า (license to kill) ของ 007, แต่บอนด์ไม่สน และลงมือชำระแค้น
นักวิจารณ์หลายคน ค่อนข้างชอบบอนด์ที่สุดโต่งกว่าปกติแบบนี้, แต่ฝั่งผู้ชมเอียงไปทางชังซะมาก
ที่มา: ultimateclassicrock
COMMENTS