ภาพยนตร์อันดัดแปลงเนื้อหาจากนวนิยายมีออกมาเรื่อยๆ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญอย่างหนึ่ง นิยายแนวสืบสวนสอบสวนเองก็มิใช่ข้อยกเว้น แต่โดยมากมักประ...
ภาพยนตร์อันดัดแปลงเนื้อหาจากนวนิยายมีออกมาเรื่อยๆ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญอย่างหนึ่ง นิยายแนวสืบสวนสอบสวนเองก็มิใช่ข้อยกเว้น แต่โดยมากมักประสบความสำเร็จแค่พอชื่นใจ ไม่ทำรายได้แรงๆ ขนาดกำไรเหนาะๆ ตลอดนัก
คาดว่าเพราะความยากในการดัดแปลงนิยายสืบสวนให้ทำความเข้าใจเรื่องราว+ปริศนาต่างๆ แบบครบถ้วนกระบวนความภายในเวลาจำกัด และการที่หนังแนวสืบสวนมักเต็มไปด้วยบทสนทนายืดยาวชวนปวดเศียรเวียนเกล้า ยากจะตามเก็บรายละเอียดการพูดคุยทันตลอด หรือไม่พูดเรื่อยเปื่อยน่าเบื่อจนคนดูหลับกลางทางเสียก่อน
ข้อยกเว้นหนึ่งคือภาพยนตร์ชุดเชอร์ล็อกโฮล์มส์สองภาค ซึ่งแสดงโดยคนเล่นเป็นไอร์ออนแมน เพราะแนวไขปริศนาย่อยๆ แบบกระชับฉับไวสไตล์โฮล์มส์ กับการเพิ่มบทบู๊สนุกๆ แทรกตามเนื้อเรื่องตลอด เหมาะแก่คนดูทั่วไปในวงกว้างทีเดียว
แล้วภาพยนตร์ "Murder on the Orient Express-ฆาตกรรมบนรถด่วนโอเรียนท์เอ็กซ์เพรส" นี่ละ ถือเป็นข้อยกเว้นอีกเรื่องได้ไหม? เพราะหนังทำเงินทั่วโลกไป 349.9 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 55 ล้านเชียวนะ
หนังจากนิยายสืบสวนของนักเขียนหญิง 'อกาธา คริสตี้' ที่มีนักสืบชาวเบลเยี่ยมนาม 'แอร์กูล ปัวโรต์' เป็นตัวเอกเรื่องนี้แม้ทำรายได้สูง แต่ผมไม่คิดว่าหนังเหมาะแก่คนดูทั่วไปในวงกว้างจริงๆ เท่าไหร่ เพราะเต็มไปด้วยรายละเอียดด้านบทสนทนามากมาย การไขปริศนาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดบทสนทนาพวกนี้ด้วย ให้เก็บรายละเอียดครบ+ตามให้ทันมันยากเอาการอยู่
ส่วนนี้ช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะต้นฉบับนิยายมาทำนองนี้แต่แรก แถมหนักกว่าอีก คือเหตุการณ์เกือบทั้งเล่มเกิดแค่บนรถไฟไม่ค่อยขยับไปไหน ตัวละครก็เยอะ ไล่สอบปากคำผู้ต้องสงสัยเป็นสิบคนซะทุกคน-คนละสองรอบ กว่าจะไขคดีได้
ตอนอ่านนิยายน่ะสนุก แต่พอเป็นหนังซึ่งเรื่องนี้นิยายดังมาก(อย่างน้อยคือดังในต่างประเทศ) จำเป็นต้องทำค่อนข้างซื่อตรงต่อต้นฉบับ เปลี่ยนแปลงมากเดี๋ยวโดนด่า มันเลยตามยาก+ชวนเบื่อกลางทางพอตัวเลย
ถึงกระนั้น หากให้บอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ดีหรือไม่? ขอตอบว่า "ดี" ครับ การซื่อตรงต่อต้นฉบับมีข้อดีเหนือกว่าข้อเสียอยู่แล้ว คืออะไรที่ในนิยายมันดี คนดูจะได้เห็นในหนัง
คนดูผู้เคยอ่านนิยายไม่ขัดใจ, คนดูหน้าใหม่ได้รู้ว่า "ฆาตกรรมบนรถด่วนโอเรียนท์เอ็กซ์เพรส" มีอะไรดี, ฐานคนดูจึงกว้าง ทำให้รายได้สูงตาม
ต้องชื่นชมผู้กำกับควบตำแหน่งนักแสดงนำ 'เคนเนธ บราน่าห์' และเหล่าทีมงานสร้างหนังของเขา หนังมีลูกเล่นการนำเสนออันน่าสนใจ เพื่อให้คนดูหนังย่อยง่ายขึ้นหลายอย่างทีเดียว
- ขยายความเหตุการณ์อันถูกพูดถึงแค่ผ่านๆ ในนิยายเป็นคดีสั้นๆ ช่วงต้นเรื่อง ทำมาให้ไขปริศนาได้รวดเร็ว และสร้างสถานการณ์ดึงดูดความสนใจคนดูให้เริ่มจดจ่ออยู่กับตัวหนัง
- ลดความน่าอึดอัดจากการอุดอู้ในตู้รถไฟ โดยใช้มุมกล้องช่วย เช่น ถ่ายจากด้านบน หรือเลื่อนกล้องไปพร้อมกับการก้าวเดินของตัวละคร
- การสอบปากคำผู้ต้องสงสัยสุดยาวเหยียด แทนที่จะมัวดูตัวละครพูดจนจบเรียงคิวทีละคน ก็ตัดไปตัดมาสลับดูคนพูดพร้อมกันหลายคนบ้าง
เปลี่ยนสถานที่สอบปากคำไปมาบ้าง เช่น ตู้นอน, ตู้เสบียง หรือออกไปสอบถามกันนอกรถไฟ
- บางเรื่องซึ่งความเป็นจริงใช้คนอื่นทำได้ เช่น หาของ, เรียกคนมาถามอะไรเพิ่ม ก็ให้ปัวโรต์วิ่งไปทำเอง เพิ่มความเคลื่อนไหวของตัวละครและเรื่องราว+เพิ่มความน่าติดตาม
- เพิ่มฉากบู๊กับฉากไล่ล่าแทรกไว้สั้นๆ ตามแต่บทหนังจะอำนวย โดยให้ปัวโรต์ใช้ ไม้เท้า ช่วยทำโน่นนี่ ทั้งช่วยเดิน, งัดประตูและฟาดหัวผู้ร้าย
เรียกว่าถึงดูยากแค่ไหน ทางผู้สร้างเค้าไม่หวั่น ช่วยสร้างให้มันดูง่ายขึ้นแล้ว แต่ถึงกระนั้นผมไม่ขอแนะนำหนังเรื่องนี้แก่ผู้หวังจะดูหนังเพื่อความบันเทิงเต็มขั้นหรอกครับ เพราะ"ฆาตกรรมบนรถด่วนโอเรียนท์เอ็กซ์เพรส" ยังคงต้องใช้สมาธิเวลารับชมตลอดเรื่อง ใครไม่เคยดูแนวนี้แล้วอยากลองของ ขอให้หามารับชมตอนมีเวลาว่างจริงๆ และตั้งอกตั้งใจดูให้เต็มที่ไปเลย
เรื่องสุดท้ายอันควรกล่าวถึง คือประเด็นจิตสำนึกความเป็นธรรม, ความถูกต้อง ซึ่งหนังเน้นจุดนี้มากกว่าต้นฉบับนิยาย
หากบางครั้งบางคราวกฎหมายไม่สามารถทำหน้าที่ของมัน และมีคนทนทุกข์ทรมานจนไม่สามารถใช้ชีวิตก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้
เราควรจำใจยึดถือกฎหมายไว้ หรือโอนอ่อนผ่อนปรนไปตามสถานการณ์กันแน่?
คำตอบสุดท้ายในหนังของปัวโรต์อาจขัดใจบางคน แต่คงโดนใจใครหลายคนเช่นเดียวกัน.....
COMMENTS